ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นตาคืออะไร สำคัญไฉน?

กรอบแว่นตาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นแว่นสายตา หรือแว่นกันแดด ล้วนมีรูปแบบและรูปทรงที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่มีความหลากหลาย เนื่องจากแต่คนนั้นมีรูปหน้า สีผิวที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรม ความชอบความสนใจในรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมถึงแฟชั่นในแต่ละยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

 แล้วรู้หรือไม่ว่าขั้นตอนการเลือกกรอบก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการวัดสายตา?

นอกเหนือจากเหตุผลทางด้านความสวยงามและบุคลิกของผู้สวมใส่แว่นตาแล้ว การเลือกกรอบที่เหมาะสมจะส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็นอีกด้วย เนื่องจากว่าคนแต่ละคนนั้นมีโครงหน้าที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง บางคนมีโครงหน้าเล็ก บางคนมีโครงหน้าใหญ่ บางคนมีสันจมูกโด่ง บางคนไม่มีสันจมูก บางคนตำแหน่งของหูอยู่สูงกว่าดวงตา ดังนั้นแล้วความแตกต่างของโครงหน้าส่งผลทำให้แว่นตาในขณะสวมใส่มีมุมการวางบนใบหน้าที่มีองศาที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย ความโค้งหน้าแว่น(faceform angle) มุมเทหน้าแว่นขณะสวมใส่(pantoscopic tilt) ระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตา (cornea vertex distance) ตัวแปรทั้งสามอย่างสิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นตา (frame parameter)หรือว่า position of wear  

ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นตา (frame parameter)ประกอบไปด้วย

1.ความโค้งหน้าแว่น(faceform angle,Wrap angle) 

ถ้าเราหยิบแว่นขึ้นมาวางแล้วมองจากมุมบนในลักษณะ bird eye view เราจะพบว่า หน้าแว่นตาแต่ละรูปทรงที่แตกต่างกัน แว่นบางทรงมีลักษณะหน้าแว่นที่ตรง แว่นบางทรงมีหน้าแว่นที่โค้ง ซึ่งพบได้ในแว่นทรงสปอร์ตพวกแว่นกันแดดแบรนด์ Oakley หรือแว่นบางทรงจะมีความโค้งหน้าแว่นที่ยืดหยุ่นไปกับโครงหน้าอย่างเช่นแบรนด์ Ic! Berlin ที่หากผู้ที่มีโครงหน้ากว้างจะทำให้หน้าแว่นตรง แต่ถ้าผู้ที่ใส่มีโครงหน้าเล็ก จะทำให้หน้าแว่นมีลักษณะโค้งหรือโอบหน้ามากกว่า เราสามารถวัดหาค่าความโค้งหน้าแว่นหรือ faceform angle ได้เป็นหน่วยองศา ความโค้งหน้าแว่นมาตรฐานจะอยู่ที่ 5 องศา ถ้าหน้าแว่นทีเป็นแว่นหน้าตรง จะมีองศาที่น้อยๆ เช่น 0-3 องศา ถ้าหน้าแว่นมีความโค้ง จะมีค่าองศาเฉลี่ยมากกว่า 9-10 องศาขึ้นไป

2.มุมเทหน้าแว่นขณะสวมใส่(pantoscopic tilt)

มุมเทหน้าแว่นเราสามารถสังเกตได้จากการมองจากด้านข้างผู้ที่สวมใส่แว่นตา จะพบว่าหน้าแว่นของแว่นตาจะงุ้มเข้าหาแก้ม จะงุ้มเข้ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ รูปแบบดีไซน์ของแว่นตา และ ตำแหน่งของหูเมื่อเทียบกับดวงตา ถ้าหูอยู่ตำแหน่งที่ต่ำกว่าดวงตาจะส่งผลทำให้มุมเทหน้าแว่นน้อย ถ้าหูอยู่ตำแหน่งที่สูงกว่าดวงตาจะส่งผลทำให้มุมเทหน้าแว่นมาก เราสามารถวัดหาค่ามุมเทหน้าแว่นหรือ pantoscopic tilt ได้เป็นหน่วยองศา โดยมุมเทหน้าแว่นขณะสวมใส่มาตรฐานจะอยู่ที่ 7-8 องศา

3.ระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตา (cornea vertex distance,back vertex distance)

ระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตา โดยระยะห่างนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดีไซน์ของแว่นตาว่าแว่นตาที่เราเลือกมานั้นเป็นชนิดแบบมีแป้นจมูกหรือไม่ และลักษณะของสันจมูกของผู้สวมใส่ ยกตัวอย่างเช่นชาวตะวันตกที่โดยส่วนมากจะมีสันจมูกค่อนข้างโด่งและเป็นสัน เมื่อสวมใส่แว่นตาแล้วจะพบว่ามีระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตามากกว่าคนที่มีสันจมูกน้อย เราสามารถวัดหาค่าระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตาหรือcornea vertex distanceได้เป็นหน่วยมิลลิเมตร โดยมาตรฐานจะอยู่ที่ 12 มิลลิเมตร 

การวัดหาค่าพารามิเตอร์มีความสำคัญมากโดยเฉพาะกับเลนส์โปรเกรสซีฟ เลนส์โปรเกรสซีฟของแต่ละรุ่นแต่ละค่ายจะมีค่าพารามิเตอร์ในแบบเฉพาะและแตกต่างกัน เราจำเป็นต้องหาค่าพารามิเตอร์เหล่านี้ เพื่อใช้ในการพิจารณาว่าเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นไหนจะเหมาะสม หรือทำการดัดรูปทรงแว่นให้เข้ากับพารามิเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นนั้นนั้นเอง

ยกตัวอย่างเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น A จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อผู้สวมใส่แว่นตาแล้วมีค่าพารมิเตอร์ดังนี้

  • ความโค้งหน้าแว่นหรือ faceform angle ที่ 5 องศา 
  • มุมเทหน้าแว่นขณะสวมใส่หรือ pantoscopic tilt ที่ 7 องศา 
  • ระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตาหรือ cornea vertex distance ได้ที่ 12 มิลลิเมตร 
หากว่าค่าพารามิเตอร์ที่ได้นั้นไม่เป็นไปตามสเป็คที่เลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น A ระบุไว้ เช่น 
    • ความโค้งหน้าแว่นหรือ faceform angle ที่ 2 องศา 
    • มุมเทหน้าแว่นขณะสวมใส่หรือ pantoscopic tilt ที่ 5 องศา 
    • ระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตาหรือ cornea vertex distance ได้ที่ 12 มิลลิเมตร

    ลักษณะค่าพารามิเตอร์ที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อมุมมองการใช้เลนส์โปรเกรสซีฟคู่นั้นให้แย่ลงและความไม่สบายตาด้วยครับ 

    เราอาจใช้วิธีการแก้ไขโดยการดัดรูปทรงของแว่นตานั้นให้เป็นไปตามสเป็คที่เลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น A ระบุไว้นั้นเอง หรือ หากว่าแว่นตานั้นไม่สามารถทำการดัดเพื่อเปลี่ยนรูปทรงได้อาจจะต้องพิจารณาเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นอื่นที่มีความเหมาะสมกับค่าพารามิเตอร์ตามจริงที่วัดได้ หรืออาจจะพิจารณาถึงเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลที่มีประสิทธิภาพสามารถรองรับค่าพารามิเตอร์ใดๆก็ได้ได้อย่างอิสระนั้นเองครับ

    การวัดหาค่าพารามิเตอร์ที่ยังมีความจำเป็นเพื่อใช้สำหรับการคำนวณในรูปแบบอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การวัดมุมเทหน้าแว่นมีผลต่อการฟิตติ้งความสูงตาดำ หรือ การใช้ค่าระยะห่างระหว่างผิวเลนส์ถึงกระจกตาเพื่อแปลงค่าสายตาจากค่าสายตาในแว่นไปเป็นค่าสายตาสำหรับใสคอนแทคเลนส์ครับ

     จากเนื้อหาในบทความนี้ทำให้รู้ได้ว่าค่าพารามิเตอร์ของแว่นตานั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการวัดสายตาเลยครับ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ ในบทความที่เกี่ยวข้องกับการรีวิวเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นนอกเหนือจากปัจจัยในด้านค่าสายตาแล้วจะสังเกตได้ว่าผมให้ความสำคัญในเรื่องพารามิเตอร์เป็นสำคัญด้วยเช่นกัน เพื่อใช้พิจารณาว่าควรจะจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นไหนจึงจะเหมาะสมที่สุดนั้นเองครับ

    Credit รูปภาพ www.visionease.com
    Credit รูปภาพ  www.alcom.info


    You may also like

    ดูทั้งหมด
    Example blog post
    Example blog post
    Example blog post